กรุงเทพมหานคร โดย สำนักการแพทย์ (สนพ.) และ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการขยายผลงานเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติทางทันตกรรม (DentiiScan) และการใช้งานแพลตฟอร์มดิจิทัลทางทันตกรรม (Digital Dentistry Platform)” เพื่อส่งเสริมและผลักดันนวัตกรรมไทย สู่การใช้งานเครื่องเดนตีสแกนรุ่น 2.0 ในโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ จำนวน 2 โรงพยาบาล ได้แก่ โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ และโรงพยาบาลสิรินธร เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตสู่ประชาชน
(14 ม.ค. 62) เวลา 13.00 น. ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายแพทย์พิชญา นาควัชระ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) และดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ(เนคเทค) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ“โครงการขยายผลงานเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติทางทันตกรรม (DentiiScan) และการใช้งานแพลตฟอร์มดิจิทัลทางทันตกรรม (Digital Dentistry Platform)” โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ที่ปรึกษาอาวุโสสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติและผู้อำนวยการโครงการวิจัยพัฒนาเครื่องเดนตีสแกน นายแพทย์สมชาย จึงมีโชค ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ และคณะผู้บริหารทั้งสององค์กร เข้าร่วมเป็นเกียรติในพิธีลงนาม
นายทวีศักดิ์ฯ กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้สอดคล้องกับนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คุณภาพชีวิต การดูแลประชาชน สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ เพื่อดำเนินการพัฒนางานวิจัยทางด้านทันตกรรม โดย สวทช. ได้พัฒนาผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาอย่างต่อเนื่อง และเล็งเห็นความสำคัญของประชาชนกรุงเทพมหานคร โดยนำเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติทางทันตกรรมหรือเดนตีสแกน และผลักดันเทคโนโลยีทางทันตกรรมรากฟันเทียมแบบครบวงจรด้วยนวัตกรรมไทย มาใช้ในโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ ซึ่งสามารถตอบสนองต่อเป้าหมายของประชาชนได้เป็นอย่างดี อาทิ ความสะดวกของประชาชนที่มาใช้บริการด้านทันตกรรมในโรงพยาบาล และในอนาคตจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลด้านทันตกรรม ระหว่างโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ ช่วยให้ทันตแพทย์มองเห็นโครงสร้างช่องปากและขากรรไกรของผู้ป่วยแบบ 360 องศา ลดความผิดพลาดในการผ่าตัดในช่องปากของผู้ป่วยและเพิ่มประสิทธิภาพในการฝังรากฟันเทียม ที่สำคัญคือเป็นนวัตกรรมที่ผลิตโดยคนไทย โดยมีคุณภาพเทียบเท่ามาตรฐานสากลผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยทางปริมาณรังสีจากสำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ มีปริมาณรังสีต่ำใกล้เคียงกับเครื่องที่ผลิตจากต่างประเทศผ่านความปลอดภัยทางระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
สำหรับเครื่องเดนตีสแกน และการใช้งานแพลตฟอร์มดิจิทัลทางทันตกรรมที่จะนำไปให้บริการประชาชนในโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ ทั้ง 2 แห่ง จะช่วยให้พี่น้องประชาชนในกรุงเทพมหานคร ได้มีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีนวัตกรรมซึ่งเกิดจากฝีมือนักวิจัยที่เป็นคนไทย ที่ช่วยลดค่าใช้จ่าย และยังทำให้ประเทศไทยสามารถลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศซึ่งมีราคาสูง
ดร.ณรงค์ฯ กล่าวว่า เครื่องเดนตีสแกน เป็นผลงานวิจัยพัฒนาของ สวทช. โดยโครงการนี้ได้เริ่มวิจัยพัฒนาอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2550 มี ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ เป็นผู้อำนวยการโครงการในการพัฒนาเครื่องดังกล่าว เครื่องเดนตีสแกนเป็นตัวอย่างผลงานวิจัยไทยที่มีคุณสมบัติและมาตรฐานระดับสากล ซึ่งพิสูจน์ว่าใช้งานได้จริง และได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการผลิตเชิงพาณิชย์ให้แก่บริษัทเอกชนแล้ว
ปัจจุบันเครื่องเดนตีสแกน มีจำนวนการใช้งานทั้งสิ้น มากกว่า 5,000 ครั้ง เครื่องเดนตีสแกน จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการก้าวสู่ยุคดิจิทัลทางทันตกรรม จากการใช้ข้อมูล 3 มิติ ซึ่งจากข้อมูล 3 มิติที่ได้ จะทำให้สามารถนำเทคโนโลยีอื่นๆ เข้ามาสนับสนุนการทำงานของทันตแพทย์ อย่างเช่น การวางแผนผ่าตัด, การใช้อุปกรณ์นำร่องสำหรับเจาะช่วยในการผ่าตัด เป็นต้น ทำให้การฝังรากฟันเทียมมีประสิทธิภาพแม่นยำ และปลอดภัย นำไปสู่การเกิดเป็น “แพลตฟอร์มดิจิทัลทางทันตกรรม”
ความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานคร และ สวทช. ในวันนี้ ดำเนินงานภายใต้โครงการ Big Rock ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในส่วนของนโยบาย “วิทย์เสริมแกร่ง” ซึ่งเป็นการตอบโจทย์การสร้างศักยภาพการแข่งขันให้กับประเทศไทย โดยมีเป้าหมายในการติดตั้งเครื่องเดนตีสแกนในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลของรัฐ จำนวน 50 แห่งทั่วประเทศ พร้อมการฝึกอบรมการใช้งาน ให้กับบุคลากรทางทันตกรรม อาทิ ทันตแพทย์และผู้ช่วยทันตแพทย์ จำนวน 500 คน ให้มีความชำนาญในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลทาง ทันตกรรม
การร่วมลงนามความร่วมมือครั้งนี้ ถือเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนนโยบายรัฐบาล ให้เกิดการขับเคลื่อนและบูรณาการความร่วมมือ ส่งเสริม ผลักดันในกลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มเทคโนโลยีที่และอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ สร้างสังคมที่เปี่ยมสุข ประชาชนมีสุขภาพที่ดี นำสู่ความเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยอย่างยั่งยืนในอนาคต |